
ฮือฮาขุดพบทับหลัง ปราสาทเขมรโบราณพันปี รูปสิงห์ถือพวงมาลัย ศิลปะร่วมสมัย บาปวน-นครวัด
วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม การดำเนินโครงการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทบ้านบุใหญ่ ตามสัญญาที่ 128/2566 พื้นที่หลังโรงเรียนบ้านบุใหญ่ หมู่ 7 ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
พบนายเชต สุขปราการ นักโบราณคดี และทีมงานผู้รับเหมา สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กว่า 10 คน กำลังใช้เครื่องมืออุปกรณ์ขุดสกัดชั้นดินและชั้นหินทีละก้อนอย่างประณีต
จากนั้นใช้รถเครนยกก้อนหินทรายที่เป็นโครงสร้างปราสาท นำออกมาจัดเรียงไว้ด้านนอก เพื่อความสะดวกในการจำแนก และวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ
ทั้งนี้ นายรักชาติ ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา ได้ให้ความสนใจการขุดพบทับหลังเหนือกรอบประตู รูปสิงห์ถือพวงมาลัย บริเวณด้านทิศใต้ของตัวปราสาท ลักษณะรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่การแกะสลักยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งสังเกตจากลายแกะที่ปรากฏไม่ครบองค์ประกอบและร่องลวดลายตื้นเขินคล้ายกับอยู่ระหว่างขั้นตอนการเก็บรายละเอียด
นายเชต นักโบราณคดี รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า ปราสาทบ้านบุใหญ่ มีพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา สภาพทั่วไปเป็นเนินเล็กๆ มีก้อนหินทรายพังทลายกระจัดกระจายตามบริเวณโดยรอบ ไม่เหลือรูปทรงของอาคารสถาปัตยกรรม
สันนิษฐานจากหลักฐาน คาดเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สิ่งก่อสร้างศิลปะเขมรแบบบาปวน–นครวัด โครงสร้างใช้หินทรายบริเวณแหล่งหินตัด อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกันกับปราสาทหินพิมายเป็นวัสดุหลัก
ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว พบทั้งก้อนเรียบและส่วนที่มีการแกะสลักลวดลายตกแต่ง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบางชิ้น เช่น ชิ้นส่วนฐานบัว กรอบเสาประตู ชิ้นส่วนทับหลังเหนือกรอบประตู ชิ้นส่วนบัวยอดปราสาท ชิ้นส่วนกรอบหน้าบัน ชิ้นส่วนนาคประดับมุมและชิ้นส่วนฐานรองประติมากรรมรูปเคารพกำหนดอายุเก่าแก่ประมาณ 1 พันปี เทียบเคียงปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ อยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 และก่อนหน้านี้ขุดพบศิวลึงค์ความยาว 30 เซนติเมตร สภาพสมบูรณ์ โดยนำไปเก็บรักษาที่สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา อ.พิมาย
ด้าน นายรักชาติ กล่าวว่า รับแจ้งจาก นายเชต ได้ขุดพบทับหลังเหนือกรอบประตู ทำให้ชาวสูงเนินตื่นเต้น ดีใจ เนื่องจากมีสมบัติของชาติเพิ่มมาอีกชิ้น ทำให้ปราสาททรงคุณค่ายิ่งขึ้น ถือเป็นความโชคดีที่ค้นพบของดีและมีสภาพสมบูรณ์
ตนได้รายงานให้ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา รับทราบ ลำดับอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นเข้ามาดูแลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน นำไปสู่การพิจารณาในการสนับสนุนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม